ในช่วงที่ตลาดหุ้นกำลังปรับตัวขึ้นต่อเนื่องยาวนานเป็นตลาดกระทิงนั้น หุ้นที่มักได้รับความนิยมสูงสุดในหมู่นักลงทุนรายย่อยก็คือ “หุ้นเก็งกำไร” หุ้นที่เข้าข่ายเป็นหุ้นเก็งกำไรนั้น ผมขอให้คำนิยามอย่างง่ายที่สุดก็คือ เป็นหุ้นที่มีการซื้อขายหมุนเวียนสูงมากเมื่อเทียบกับหุ้นที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดที่เรียกกันว่า Free Float ตัวอย่างเช่น บริษัทมีหุ้นทั้งหมด 1,000 ล้านหุ้น แต่มีหุ้นเพียง 300 ล้านหุ้นที่อยู่ในมือของคนเล่นหุ้นหรือมีหุ้น Free Float อยู่ 300 ล้านหุ้น ที่เหลือเป็นหุ้นของเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มักจะไม่ขายออกมาในตลาด ถ้าหากหุ้นตัวนี้มีปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันสูงถึง 300 ล้านหุ้น แบบนี้ก็แปลว่าคนที่เล่นหุ้นตัวนี้มีการซื้อขายเร็วมาก กล่าวคือ โดยเฉลี่ยแล้วจะซื้อและถือหุ้นเพียงวันเดียวก็ขายแล้ว พวกเขาซื้อเพราะหวังที่จะได้กำไรอย่างรวดเร็วจากการที่ราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นในวันเดียว คนที่เล่นหุ้นตัวนี้ส่วนใหญ่แล้วไม่ต้องการถือยาวเพื่อรอกำไรและปันผลที่จะตามมา
ปริมาณการซื้อขายหุ้นสูงขนาดไหนจึงจะถือว่าเข้าข่ายเป็นหุ้นเก็งกำไรนั้นผมไม่สามารถบอกได้เพราะมันขึ้นอยู่กับ “ดีกรี” ของการเก็งกำไรของหุ้นตัวนั้น ๆ ถ้าเป็นหุ้น “ตัวเล็ก” มี Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นไม่ถึง 10,000 ล้านบาท แต่มีปริมาณการซื้อขายหุ้นติดอันดับหนึ่งในสิบของตลาดเป็นประจำหรือบางวันเป็นหุ้นที่มีการซื้อขายสูงสุดในตลาด แบบนี้ก็ต้องเรียกว่าเป็นหุ้น “เก็งกำไรรุนแรง” และนี่คือหุ้นที่ผมจะพูดถึงในวันนี้ สิ่งที่ผมจะพูดก็คือ ข้อสังเกตของผมที่เคยเห็นหุ้นเก็งกำไรมายาวนานว่ามันมี “วิวัฒนาการ” อย่างไร
ประการแรกที่ผมเห็นและน่าจะเป็นสิ่งที่จะยังอยู่ต่อไปอีกนานก็คือ หุ้นเก็งกำไรนั้นมักจะเป็นหุ้นตัวเล็กและ/หรือมี Free Float น้อย นี่เป็นสิ่งที่ไม่เปลี่ยนและก็คงเปลี่ยนได้ยาก เพราะหุ้นที่ตัวใหญ่หรือมี Free Float สูงนั้น เป็นเรื่องยากที่จะ “ไล่ราคา” หรือ “ทำราคา” ให้วิ่งได้เร็วหรือง่าย
ประการที่สองที่ผมเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือมี “วิวัฒนาการ” ของการเก็งกำไรชัดเจนก็คือ ในอดีตนั้น “สปอนเซอร์” หรือคนที่เป็น “ผู้นำ” ในการเก็งกำไรนั้น มักจะมีเพียงรายเดียวหรือเพียงสองสามรายที่เป็น “รายใหญ่” ที่มีชื่อเสียงในตลาดหุ้น แต่ปัจจุบันนั้น คนที่เป็น “ผู้เล่นหลัก” ในหุ้นเก็งกำไรแต่ละตัวนั้น มักจะมีหลายคนหรืออาจจะเรียกว่า “เล่นกันเป็นกลุ่ม” และมักจะรวมถึงคนที่มี “ชื่อเสียง” ในวงการด้วย
ประการที่สาม หุ้นเก็งกำไรในอดีตนั้น มักจะเป็น “หุ้นเน่า” คือเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานทางธุรกิจที่เลวร้าย เพียงแต่อยู่ในอุตสาหกรรมที่อาจจะร้อนแรงและสปอนเซอร์หรือเจ้าของบริษัทที่อาจจะร่วมมือด้วยช่วยกัน “สร้างข่าว” กระตุ้นราคาหุ้นตลอดเวลาพร้อม ๆ กับการซื้อขายหุ้นนำเพื่อสร้างราคาหุ้นให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในปัจจุบัน หุ้นเก็งกำไรนั้น มักจะเป็นหุ้นที่พอมีพื้นฐานอยู่บ้าง แต่จะต้องเป็นกิจการที่มีผลประกอบการไม่แน่นอน มีช่วงเวลาที่เลวร้ายและช่วงเวลาที่ดีมาก ๆ สลับกันไป และช่วงเวลาที่จะนำหุ้นมาเล่นเก็งกำไรก็คือ ช่วงที่บริษัทกำลังมีผลประกอบการที่ดีเยี่ยมหรือเป็นช่วงขาขึ้นของบริษัท
ประการที่สี่ ในอดีตนั้น การ “โปรโมตหุ้น” เพื่อกระตุ้นราคาหุ้นนั้น มักจะเป็นการ “ปล่อยข่าว” ไปตามห้องค้าแบบ “ปากต่อปาก” หรือบางกรณีก็ผ่านสื่อที่เป็นหนังสือพิมพ์โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์หุ้นที่ออกเป็นรายวัน แต่ในปัจจุบัน การโปรโมตหุ้นนั้น ทำกันในทุกสื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านทางอินเตอร์เน็ตและทางโทรศัพท์มือถือที่เป็นสื่อสังคมทั้งหลาย และเนื้อหาของสิ่งที่ใช้นั้นก็ไม่ใช่เพียงแต่ “ข่าว” แต่รวมถึงการวิเคราะห์หุ้นแบบลึกซึ้ง “น่าเชื่อถือ” ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ในปัจจุบัน ผู้บริหารต่างก็ออกมาช่วย “ยืนยัน” กับนักลงทุนโดยตรงว่า กิจการนั้นกำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างโดดเด่น เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจากอดีตที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ หรือเนือย ๆ มานาน
ประการที่ห้า ในอดีตนั้น เจ้าของบริษัทมักจะต้อง “เปิดไฟเขียว” หรือเข้าร่วมในกระบวนการเก็งกำไรด้วย แต่ในปัจจุบันนั้น อาจจะไม่จำเป็น ขอเพียงเจ้าของไม่มา “ขัด” ก็พอแล้ว เหนือสิ่งอื่นใด การที่หุ้นราคาดีมีสภาพคล่องสูง มันก็เป็นผลประโยชน์กับเจ้าของ ดังนั้น เจ้าของก็ไม่อยากทำลายสถานการณ์นั้นอยู่แล้ว
ประการที่หก ในอดีต หุ้นเก็งกำไรมาก ๆ นั้น เมื่อ “หมดรอบ” สปอนเซอร์หรือรายใหญ่ได้ขายหุ้นทำกำไรไปแล้ว การตกต่ำลงของราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นจะลดลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงมาก เหตุผลคงเป็นเพราะพื้นฐานของหุ้นไม่ดีตั้งแต่เริ่ม ดังนั้น นักเล่นหุ้นต้องรีบขาย “หนีตาย” ก่อนที่ปริมาณการซื้อขายจะหดหายไปเกือบหมด ในปัจจุบันนั้น เนื่องจากหุ้นเก็งกำไรหลายตัวหรือส่วนใหญ่มักมีผลประกอบการที่ยังดีอยู่แม้ว่าราคาจะวิ่งไปเกินพื้นฐานมาก แต่การที่กำไรยังมีและน่าจะยังดำเนินต่อไประยะหนึ่ง ดังนั้น คนที่ถือหุ้นไว้ก็ยังมีความหวัง ดังนั้น การลดลงของราคาและปริมาณการซื้อขายจึงไม่รุนแรงเท่ากับหุ้นเก็งกำไรในอดีต นอกจากนั้น ระดับราคาที่สูงยังมักจะสามารถดำรงอยู่ยาวกว่าในอดีตมาก
สุดท้าย ก็คือ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน นักเก็งกำไรที่ประสบความสำเร็จสูงในช่วงที่ตลาดบูม มักจะสามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ ผลตอบแทนสูงลิ่วเป็นร้อย ๆ เปอร์เซ็นต์ต่อปีและอาจจะหลายปีติดต่อกัน หลายคนกลายเป็น “เทพ” มีชื่อเสียงในวงการเล่นหุ้นและลงทุน สถานการณ์แบบนี้มักจะจบลงเมื่อตลาดหุ้นที่เริ่มกลายเป็น “ฟองสบู่” แตกตัวลงและราคาหุ้นตกต่ำลงอย่างหนักต่อเนื่องยาวนาน ในสถานการณ์แบบนั้น นักเก็งกำไรจำนวนมากต้องขาดทุนและเสียหายอย่างหนักโดยเฉพาะจากการใช้มาร์จินเล่นหุ้น จำนวนมากออกจากตลาดและกลับไป “ทำมาหากิน” อย่างอื่น แต่บางคนที่สามารถหลีกเลี่ยงหายนะและรักษาความมั่งคั่งที่สะสมไว้ได้กลายเป็น “เสี่ย” ที่จะยังอยู่ในตลาดต่อไปและพร้อมกลับมาอีกเมื่อสถานการณ์ตลาดกลับสู่ภาวะปกติ
สำหรับนักเก็งกำไรรายเล็กที่เล่นหุ้น “รายวัน” อดีตเป็นอย่างไร ปัจจุบันก็ยังเหมือนเดิม พวกเขาคอยดูทุกเช้าว่า “เขาเล่นตัวไหน” ในวันนี้ พวกเขาพร้อมซื้อและขายทุกวันและทุกนาที ในยามที่ตลาดหุ้นยังดีและสปอนเซอร์ยังเล่นกันอยู่ พวกเขาก็มักจะมีกำไรติดไม้ติดมือไปบ้าง แต่ในช่วงที่ตลาดกำลังลงและผู้นำทยอย “ถอย” ออกจากตัวหุ้น คนจำนวนมากก็จะขาดทุน โดยรวมแล้ว นักเก็งกำไรรายย่อยก็มักจะขาดทุนโดยเฉพาะเมื่อคิดรวมถึงค่าคอมมิชชั่นที่ต้องเสียไปค่อนข้างมาก แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร นักเก็งกำไรรายย่อยก็จะไม่หนีหายหรือไม่หมดไป เขาพร้อมกลับมาเล่นใหม่ กับหุ้นเก็งกำไรตัวใหม่ กับ “ความหวังใหม่” เหนือสิ่งอื่นใด นี่คงเป็นจิตวิทยาที่ฝังอยู่ในยีนส์ของมนุษย์ นั่นคือ มนุษย์นั้นมีสัญชาติญาณของการ “เก็งกำไร”